วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

เครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องเป่า

เครื่องเป่า เป็นเครื่องดนตรีที่ทำให้เกิดเสียงจากลมเป่า อุปกรณ์ดังเดิมได้จากพืช ได้แก่หลอดไม้ต่าง ๆ และจากสัตว์ ได้แก่ เขาสัตว์ต่างๆ ต่อมาได้มีวิวัฒนาการด้วยการเจาะรูและทำลิ้น เพื่อให้เกิดระดับเสียงได้มาก


๑. ขลุ่ย เป็นเครื่องเป่าดั้งเดิมของไทย มีรูสำหรับนับเสียงสูง – ต่ำ 7 รู นอกจากใช้เป่าเล่นเพื่อความบันเทิงแล้ว ยังใช้เป่าร่วมในวงเครื่องสาย วงปี่พาทย์ไม้นวม วงมโหรี และวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์อีกด้วย ขลุ่ย มักทำจากไม้รวก ไม้ชิงชัน ไม้พะยูง และงาช้าง แต่ที่ทำจากไม้รวกจะให้เสียงนุ่มนวล ไพเราะกว่า ขลุ่ยมี 5 ชนิด คือ ขลุ่ยกรวด ขลุ่ยนก ขลุ่ยเพียงออ ขลุ่ยหลีบ และขลุ่ยอู้ ขลุ่ยมีส่วนประกอบดังนี้
- เลาขลุ่ย คือ ตัวขลุ่ย มีขนาดแตกต่างกันไปตามชนิดของขลุ่ย มักนิยมประดิษฐ์ลวดลายต่าง ๆ ลงบนตัวขลุ่ย เช่น ลายดอกพิกุล ลายหิน และลายลูกระนาด เป็นต้น
- ดาก คือ ไม้อุดปากขลุ่ย นิยมใช้ในไม้สักทอง เหลากลมให้คับแน่นกับร่องภายในของปากขลุ่ย ฝานให้เป็นช่องว่าง ลาดเอียงตลอดชิ้นดาก ให้เป่าลมผ่านไปได้
- รูเป่า เป็นรูสำหรับเป่าลมเข้าไป
- รูปากนกแก้ว เป็นรูที่เจาะร่องรับลม จากปลายดากภายในขลุ่ย อยู่ด้านเดียวกับรูเป่า อยู่สุดปลายดากพอดี เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า รูปากนกแก้วนี้ทำให้เกิดเสียง เทียบได้กับลิ้นของขลุ่ย
- รูเยื่อ เป็นรูสำหรับบิดวัสดุที่ทำให้เสียงสั่นพริ้ว มักใช้เยื่อไม้ไผ่ หรือเยื่อหัวหอมปิด อยู่ด้านขวามือ
- รูค้ำ หรือรูนิ้วค้ำ เป็นรูสำหรับให้นิ้วหัวแม่มือปิด เพื่อบังคับเสียง และประคองเลาขลุ่ยขณะเป่า อยู่ด้านล่างเลาขลุ่ย ต่อจากรูปากนกแก้วไปทางปลายเลาขลุ่ย
- รูบังคับเสียง เป็นรูที่เจาะเรียงอยู่ด้านบนของเลาขลุ่ย มีอยู่ 7 รู ด้วยกัน
- รูร้อยเชือก มี 4 รู หรือ 2 รูก็ได้ อยู่ทางส่วนปลายของเลาขลุ่ย โดยการเจาะทะลุบน-ล่าง และ ซ้าย-ขวา ให้เยื้องกันในแต่ละคู่
เสียงขลุ่ยเกิดจากเป่าลม และใช้นิ้วมือปิดเปิดรูบังคับเสียง
ขลุ่ยหลีบ
๑.๑ ขลุ่ยหลีบ เป็นขลุ่ยขนาดเล็ก ยาวประมาณ 31 ซ.ม. มีเสียงสูงแหลมเล็ก ระดับเสียงต่ำสุดสูงกว่า เสียงต่ำสุดของขลุ่ยเพียงออขึ้นมา 3 เสียง ใช้เป่าคู่กับขลุ่ยเพียงออ หรือขลุ่ยกรวด มีอยู่สองชนิด คือ ขลุ่ยหลีบเพียงออ และขลุ่ยหลีบกรวด

๑.๒ ขลุ่ยเพียงออ เป็นขลุ่ยขนาดกลาง ยาวประมาณ 45–46ซ.ม. ระดับเสียงต่ำสุดคือ เสียงโด ของไทย ใช้เป็นหลักเทียบเสียง ในวงเครื่องสาย เครื่องตี ถ้าเล่นกับวงมโหรี ขลุ่ยเพียงออต้องมีระดับเสียง ได้ระดับเดียวกับลูกฆ้องวงใหญ่ ลูกที่ 10 ที่เรียกว่า ลูกเพียงออ

ขลุ่ยอู้
๑.๓ ขลุ่ยอู้ เป็นขลุ่ยขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 60 เซนติเมตร ระดับเสียงต่ำสุด ต่ำกว่าระดับเสียงต่ำสุดของขลุ่ยเพียงออ ลงไปอีก 2 เสียง ใช้บรรเลงในวงปีพาทย์ดึกดำบรรพ์

ขลุ่ยกรวด
๑.๔ ขลุ่ยกรวด ขลุ่ยชนิดนี้ มีเสียงสูงกว่าขลุ่ยเพียงออ 1 เสียง ใช้สำหรับวงเครื่องสายผสมที่นำเอาเครื่องดนตรีฝรั่ง มาเล่นผสมวง เช่น วงเครื่องสายผสมไวโอลิน วงเครื่องสายผสมออร์แกน มีขนาดเล็กกว่า ขลุ่ยเพียงออ ระดับเสียงต่ำสุดสูงกว่า ระดับเสียงของขลุ่ยเพียงอออยู่ 1 เสียง

ขลุ่ยนก
๑.๕ ขลุ่ยนก เป็นขลุ่ยพิเศษ ทำขึ้นเพื่อ เสียงสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะนก ใช้บรรเลง ประกอบในวงดนตรี เพื่อให้เกิดจินตนาการ ในการฟังเพลงได้ดียิ่งขึ้น บางครั้งยังใช้ ลิ้นปี่มาประกอบกับ ตัวขลุ่ยเพื่อเลียนเสียงไก่ ขลุ่ยพิเศษเหล่านี้นิยมใช้บรรเลง เพลงตับนก และตับภุมรินทร์

๒. ปี่ เป็นเครื่องดนตรีประเภทเป่า ปกติ เลาปี่ ทำด้วยไม้แก่น ต่อมามีผู้คิดทำด้วยงา โดยกลึงให้เป็นรูปบานหัว และบานท้าย ช่วงกลางป่อง ภายในกลวง ทางหัวใส่ลิ้นเป็นช่องรูเล็ก ทางท้ายปากรูใหญ่ ใช้งา ชัน หรือวัสดุอย่างอื่นมาหล่อเสริมตอนหัว และตอนท้าย เรียกว่า "ทวน" ทางหัวเรียกว่า "ทวนบน" ทางท้ายเรียกว่า "ทวนล่าง" ช่วงที่ป่องกลาง เจาะรูนิ้วสำหรับเปลี่ยนเสียง เรียงลงมาตามข้างเลาปี่ จำนวน ๖ รู ที่รูเป่าตอนทวนบนใส่สิ้นสำหรับเป่าเรียกว่า ลิ้นปี่ ทำด้วยใบตาลซ้อน ๔ ชั้น ตัดกลมผูกติดกับท่อกลมเล็ก ๆ ที่เรียกว่า "กำพวด" ทำด้วยโลหะ มีลักษณะเรียว วิธีผูกเชือกให้ลิ้นใบตาลติดกับกำพวดเรียกว่า "ผูกตะกรุดเบ็ด"
ปี่แต่เดิมคงจะใช้เป่านำวงดนตรี และใช้กับวงเครื่องตีเป็นพื้นจึงเรียกว่า วงปี่พาทย์ ปี่ไทยมีสามขนาดด้วยกันคือ ปี่นอกเป็นขนาดเล็ก ปี่กลางเป็นขนาดกลาง และปี่ในเป็นขนาดใหญ่
๒.๑ ปี่นอก เป็นปี่ขนาดเล็ก ยาวประมาณ 31 เซนติเมตร
๒.๒ ปี่ใน เป็นปี่ขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 42 เซนติเมตร
๒.๓ ปี่กลาง เป็นปี่ขนาดกลาง ยาวประมาณ 37 เซนติเมตร
๓. ปี่อ้อ เป็นปี่โบราณชนิดหนึ่งของไทย ตัวปี่ทำด้วยไม้รวก ไม่มีข้อ ยาวประมาณ 24 เซติเมตร แต่ก่อนใช้บรรเลงในวงเครื่องสาย ต่อมาใช้ขลุ่ยเพียงออ และขลุ่ยหลีบแทน

ปี่ไฉน
๔. ปี่ไฉน เป็นปี่สองท่อน ถอดออกจากกันได้ ท่อนบนเรียงยาว ปลายผายออกเล็กน้อยเรียกว่า "เลาปี่" ท่อนล่างปลายบานเรียกว่า "ลำโพง" ทำด้วยไม้หรืองา ปี่ชนิดนี้เข้าใจว่าได้แบบอย่างมาจาก เครื่องดนตรีของอินเดีย ซึ่งเป็นเครื่องเป่าที่ทำด้วยไม้ ไทยใช้ปี่ชนิดนี้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ปัจจุบันใช้ในขบวนแห่ คู่กับปี่ชวา จ่าปีใช้เป่านำกลองชนะในกระบวนพยุหยาตรา
๕. ปี่ซอ ตัวปี่ทำด้วยไม้รวกปล้องยาว มีหลายขนาด สำรับหนึ่งมี 3 เล่ม (สำหรับปี่ซอไม่ใช่ลักษณะนามว่า เลา) 5 เล่มหรือ 7 เล่ม ขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ มีความยาวตั้งแต่ 45 – 80 เซนติเมตร
๖. ปี่ชวา เป็นปี่สองท่อน รูปร่างลักษณะเหมือนปี่ไฉน แต่ย่าวกว่า ทำด้วยไม้หรืองา เนื่องจามีขนาดยาวกว่าปี่ไฉน จึงให้เสียงแตกต่างไปจานปี่ไฉน เข้าใจว่าไทยนำปีชวาเข้ามาใช้คราวเดียวกับ กลองแขก จากหลักฐานพบว่ามีการใช้ปี่ชวา ในกระบวนพยุหยาตรา ในสมัยอยุธยาตอนต้น
๗. ปี่มอญ เป็นปี่สองท่อน เหมือนปี่ชวา แต่มีขนาดใหญ่และยาวกว่า เลาปี่ทำด้วยไม้ ลำโพงทำด้วยโลหะ ใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์มอญ หรือสมัยก่อนเรียกว่า ปีพาทย์รา ใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์มอญโดยเฉพาะ ให้เสียงโหยหวน เศร้า
๘. แคน ทำด้วยไม้ซาง ขนาดเท่านิ้วมือใส่นิ้วตรงกลางลำ นำมาเรียงลำดับผูกติดกันเป็นแถว แถวละ 7 - 8 ลำ แคนเป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองของชาวไทยภาคอีสาน ใช้เป่าประกอบในการเล่นพื้นเมือง ที่เรียกว่า “หมอลำ”
๙. แตร เป็นเครื่องดนตรีประเภทเป่า ทำด้วยโลหะ แตรที่ใช้ในการพระราชพิธีของไทยมาแต่โบราณ มี 2 ชนิด คือ แตรงอนและแตรฝรั่ง
๙.๑ แตรงอน มีลักษณะงอนบานปลาย ไทยได้แบบอย่างมาจากอินเดียและมีชื่อซึ่งแปลความหมายว่าเขาสัตว์ ซึ่งเดิมคงทำจากเขาสัตว์ ทำด้วยโลหะชุบเงิน ทำเป็นสองท่อนสวมต่อกัน ท่อนแรกเป็นหลอดโค้งเรียวยาว สำหรับเป่าลมปากตรงที่เป่าทำให้บานรับกับริมฝีปาก เรียกว่า "กำพวด" ท่อนปลายเป็นลำโพง มีเส้นเชือกริบบิ้นผูกโยง ท่อนเป่ากับท่อนลำโพงไว้ด้วยกัน ใช้บรรเลงร่วมกับสังข์ในงานพระราชพิธีเกียรติยศ เช่น พระมหากษัตริย์เสด็จออกรับทูตเป็นทางราชการ ใช้ในงานเสด็จพระราชดำเนิน โดยขบวนพยุหยาตรา ทางชลมารค สถลมารค และจนขบวนแห่งอย่างอื่น ซึ่งจะต้องเป่าแตรสังข์เป็นเครื่องประโคมสำหรับพระราชอิสริยยศด้วย
๙.๒ แตรฝรั่ง มีลักษณะบานปลายคล้ายดอกลำโพง ใช้ร่วมกับแตรงอนและสังข์ในพระราชพิธี เหตุที่ไทยเราเรียกว่า “แตร” นั้นคงจะเรียกตามเสียงที่ได้ยิน เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "แตรลำโพง" มีลักษณะ ปากบานคล้ายดอกลำโพง ในกฎมณเฑียรบาล เรียกว่า "แตรลางโพง" ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เรียกว่า "แตรวิลันดา"
๑๐. สังข์ เป็นหอยทะเลชนิดหนึ่ง เปลือกขรุขระ ต้องเอามาขัดให้เรียบและเกลี้ยงเสียก่อน แล้วเจาะก้นหอยให้ทะลุเป็นรูเป่า เครื่องเป่าชนิดนี้ไม่มีลิ้น ต้องเป่าด้วยริมฝีปาก ไทยได้แบบอย่างการใช้สังข์เป่าในงานพระราชพิธีมาจากอินเดีย การใช้เครื่องเป่าชนิดนี้ ถือเป็นของขลังและศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะในงานที่มีเกียรติสูงศักดิ์ร่วมกับแตรงอนและแตรฝรั่ง

ตัวอย่างเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่า



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น